Skip to main content

Jesus before
C h r i s t i a n i t y

บทที่ 15 ความรุนแรง

Faith4Thai.com | | คริสตศาสน์

book

ชาวยิวที่อยู่ในเขตปาเลสไตน์สมัยพระเยซู ภาวนาขอให้มีพระผู้ไถ่ (เมสสิยาห์) บทภาวนาที่ใช้สวดกันในศาลาธรรม(เพลงสดุดีของซาโลมอน และคําอวยพร ๑๘ ประการ) มีทํานองว่า เมสสิยาห์คือผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ในตระกูลของกษัตริย์เดวิด เมสสิยาห์จะต้องเป็นผู้ปกครองที่มีอํานาจมาก และจะตีผู้นําที่ชั่วช้าให้แตกกระจาย และทุบให้แตกเป็นเสี่ยงด้วยท่อนเหล็ก และจะทําลายชนชาติที่ไร้พระเจ้าด้วยคําพูดจากปาก เมสสิยาห์จะใช้ท่อนเหล็กเพื่อทําให้ทุกคนมีความเกรงกลัวพระเจ้า และชี้นําให้ทุกคนทําความดี ชาวยิวโดยทั่วไปหวังจะให้มีกษัตริย์องค์หนึ่งที่มีอํานาจ ทางการเมืองและการทหาร เพื่อจะสร้างอาณาจักรอิสราเอลขึ้นมาใหม่

1.พระเยซูไม่เคยประกาศตัวเป็นพระเมสสิยาห์

          เมื่อเราเปรียบเทียบคำว่า“เมสสิยาห์”ตามความคิดของชาวยิว   กับ อาณาจักรที่พระเยซูประกาศสอน เราคงจะไม่แปลกใจที่เห็นว่า พระเยซูไม่เคยอ้างตัวเป็นเมสสิยาห์  ไม่ว่าอ้างตรงๆหรือโดยทางอ้อม นักพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันยอมรับข้อเท็จจริงข้อนี้

          ในพระวรสารบางตอนดูเหมือนว่าพระเยซูอ้างตัวว่าเป็นเมสสิยาห์ แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นผู้เขียนพระวรสารเองที่มั่นใจว่าพระเยซูคือเมสสิยาห์ กระนั้นก็ดี ผู้เขียนพระวรสารทั้ง ๔ ก็ซื่อสัตย์ต่อข้อมูลและมีความถี่ถ้วนทางประวัติศาสตร์มาก จึงไม่ได้ยืนยันว่าพระเยซูอ้างตนเป็นเมสสิยาห์ และไม่ได้เว้นที่จะบันทึกลงไปด้วยว่าพระเยซูห้ามมิให้เรียกเมสสิยาห์ ดูเหมือนพระเยซูถือว่า การที่คนอื่นเรียกตนว่าเป็นเมสสิยาห์ หรือที่คนอื่นรบเร้าให้พระเยซูรับเป็นเมสสิยาห์  เป็นการผจญล่อลวงของมาร (ซาตาน) ฉะนั้นจะยอมคล้อยตามไม่ได้

2. พระเยซูถูกประจญ

          ในระหว่างที่หลบภัยอยู่นี้  มีเหตุการณ์ ๒ อย่าง ที่เป็นจุดกําเนิดของเรื่องพระเยซูถูกมารประจญ ให้รับเป็นกษัตริย์ ซึ่งเราจะเรียกว่าการประจญ ๒ ครั้ง

. การประจญครั้งแรก

          การประจญครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อชายประมาณ ๔ ถึง ๕ พันคน(ไม่มีผู้หญิงและเด็ก)จากแคว้นกาลิลีออกไปตามเนินที่เปลี่ยวใกล้เมืองเบทไซดา เพื่อพบกับพระเยซูและพวกสาวก พวกเขาออกไปทําไม ? และทําไมจึงมีแต่ผู้ชาย ? ใครเป็นผู้จัดการพบปะครั้งนี้ ? และทําไมจึงมาพร้อมกันเป็นจํานวนมากเช่นนี้ได้ ? เราไม่สงสัยเลยว่าการชุมนุมครั้งนี้ได้เกิดขึ้นจริง เพราะพระวรสารทั้ง ๔ และแหล่งข้อมูลต่างๆ มีบันทึกเรื่องนี้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าความสนใจมุ่งไปสู่ความหมายของ "อัศจรรย์ทวีปังและปลา"

          ข้อความบางประโยคชี้นําให้เราเข้าใจว่าการชุมนุมครั้งนั้น เดิมทีเดียวมีจุดประสงค์ และมีความสําคัญอย่างไร มาร์โกบอกว่าพระเยซูรู้สึกเห็นใจฝูงชนหลายพันคนนั้น เพราะพวกเขา "เป็นเหมือนฝูงแกะที่ไม่มีชุมพาบาล" ดังนั้น "พระเยซูจึงสั่งสอนพวกเขาอย่างยืดยาว" (มก.๖,๓๔) เข้าใจว่าพระเยซูคงจะสอนว่าอาณาจักรพระเจ้าเป็นอย่างไร และดังที่เราได้พบมาแล้วในบทก่อนๆว่า พระเยซูสอนให้พวกเขารู้จักแบ่งปันอาหาร ตามคําเล่าของยอห์น เหตุการณ์ครั้งนี้จบลงโดยที่พวกเขาพูดกันว่า "นี่เป็นประกาศกที่ต้องมาในโลกนี้แน่ ฝ่ายพระเยซูเห็นว่าพวกเขากําลังจะจับตนและตั้งให้เป็นกษัตริย์ จึงถอยหนีขึ้นไปบนเนินเขาตามลําพัง" (ยน.๖,๑๔-๑๕) ตามคําเล่าของมาร์โก พระเยซูต้องบังคับให้พวกสาวกลงเรือและล่วงหน้าไปก่อน ขณะที่พระเยซูจัดการให้ฝูงชนกลับไป แล้วขึ้นไปสวดภาวนาบนเนินเขา (มก.๖,๔๕-๔๖; มธ.๑๔,๒๒-๒๓)

          เราไม่รู้ว่าใครเป็นผู้จัดชุมนุม แต่คงไม่ใช่พวกซีลอท เพราะความคิดและวิธีการเข้ากับพระเยซูไม่ได้แน่ดังที่เราเห็นมาแล้ว และในระยะนี้พวกซีลอทค่อนข้างจะเงียบอยู่ เนื่องจากไม่มีผู้นําที่เด่นๆ (ฝูงแกะที่ไม่มีชุมพาบาล) ตําแหน่งผู้นําของพวกซีลอทเป็นตําแหน่งแบบสืบสกุล คือจากพ่อไปถึงลูก เหมือนกับพวกผู้นํามัคคาบีในยุคก่อนนั้น พวกซีลอทไม่ใช่เป็นพวกชาตินิยมพวกเดียว มีกลุ่มอื่นๆอีกที่ต้องการล้มล้างอํานาจยึดครองของโรมันและต้องการตั้งราชอาณาจักรอิสราเอลแทน (นักเขียนบางคนเข้าใจว่า ชาวยิวทุกคนที่ใช้ความรุนแรงเพื่อปลดแอกโรมัน เรียกว่าพวกซีลอททั้งนั้น ที่จริงไม่ใช่ พวกซีลอทรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนมี เอกลักษณ์ของตนเฉพาะ ในตอนปลายเมื่อพวกซีลอทนําพรรคพวกก่อการกบฏ พวกยิวทุกคนที่พร้อมจะต่อสู้ก็ได้เข้าร่วมขบวนภายใต้การนําของพวกซีลอท)

          ชายชาวยิวผู้รักชาติประมาณ ๕ พันคนออกไปในที่เปลี่ยว เพื่อชักชวนพระเยซูให้เป็นผู้นํา พระเยซูเป็นคนแคว้นกาลิลี เป็นประกาศก ทําสิ่งที่น่าทึ่งได้หลายอย่าง มีพรสวรรค์ในการเป็นผู้นํา และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ได้ประจัญหน้ากับพวกผู้มีอํานาจในเมืองเยรูซาเลมที่พระวิหาร นอกนั้นมีข่าวลือด้วยว่าพระเยซูมีเชื้อสายกษัตริย์เดวิด

          พระเยซูเห็นใจและเข้าใจความต้องการของพวกเขา ที่อยากได้ผู้นําสู่อิสรภาพ แต่พระเยซูพยายามจูงใจพวกเขาให้เห็นว่า วิธีของพระเจ้าไม่เหมือนกับวิธีของมนุษย์ และอาณาจักรพระเจ้าไม่เหมือนกับอาณาจักรของมนุษย์แบบที่เห็นๆ กันอยู่ พระเยซูคงจะได้เชิญชวนให้พวกเขาเปลี่ยนหัวใจและเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า แต่คําสอนของพระเยซู รวมทั้งอัศจรรย์แห่งการแบ่งปัน ยิ่งทําให้พวกเขาแน่ใจมากขึ้นว่า พระเยซูคือเมสสิยาห์หรือผู้ที่พระเจ้าเลือกสรรให้เป็นกษัตริย์ ฉะนั้นก่อนที่สถานการณ์จะควบคุมไม่ได้ พระเยซูจึงบังคับให้พวกสาวกลงเรือแล้วพระเยซูก็สลายฝูงชน หลังจากนั้นพระเยซูรู้สึกตัวว่าต้องการความสงบเพื่อการรําพึงภาวนา

. การประจญครั้งที่สอง

          การประจญครั้งที่สองมาจากเปโตร ที่บริเวณซีซาริยา-ฟิลิปปี  ประชาชนทั่วไปนับถือพระเยซูเป็นประกาศก เหมือนกับยอห์นแบปติสต์ เอลิยาห์ เยเรมี หรือประกาศกอื่นๆ แต่เปโตรประกาศในนามของเพื่อนสาวกว่า ตนนับถือพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ พระเยซูจึงห้ามพวกสาวกอย่างเด็ดขาดว่า ไม่ให้พูดให้คนอื่นฟัง แล้วเริ่มอธิบายว่าตนจะต้องถูกกําจัด แล้วนั้นเปโตรพาพระเยซูออกไปห่าง ๆ เพื่อตําหนิพระเยซู  ฝ่ายพระเยซูก็ตําหนิเปโตรบ้าง โดยพูดว่า "ถอยไปข้างหลัง ซาตาน! เจ้าไม่คิดแบบพระเจ้า แต่คิดแบบมนุษย์" (มก.๘,๒๘-๓๓)

          มันเป็นการขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เปโตรรู้สึกโมโหที่พระเยซูพูดถึงการถูกกําจัดและความล้มเหลว  ในเมื่อกําลังมีโอกาสที่จะยึดอํานาจและรับเป็นเมสสิยาห์ ฝ่ายพระเยซูก็โกรธที่เห็นเปโตรสวมบทบาทซาตานมาล่อลวงให้คิดแบบมนุษย์ คือคิดใช้อํานาจในรูปของความรุนแรง

          และนี่ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่มีความแน่นอนทางประวัติศาสตร์มาก ผู้เขียนพระวรสารและคริสตชนสมัยแรกคงไม่กล้าประดิษฐ์เรื่องเช่นนี้ขึ้นมา  เพราะเป็นเรื่องขัดแย้งกันและใช้ถ้อยคําค่อนข้างรุนแรง  แต่ผู้เขียนพระวรสารบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ เพราะสนใจในคํายืนยันของเปโตรที่ว่า พระเยซูเป็นเมสสิยาห์ และบันทึกในทํานองที่ว่า ความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกจับและการทรมานเท่านั้น ไม่ใช่เกี่ยวกับตำแหน่งเมสสิยาห์  เดิมเป็นเรื่องของการประจญให้พระเยซูรับเป็นเมสสิยาห์ แต่ต่อมากลายเป็นเรื่อง "การยืนยันความเชื่อ" ของคริสตชนรุ่นแรกว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์

          การประจญ (การล่อลวง การชักชวน) เป็นเรื่องจริงจังสําหรับพระเยซู เราอ่านเกี่ยวกับการที่พระเยซูถูกประจญในรูปของคําสนทนาระหว่างพระเยซูกับมาร(ซาตาน)ในที่เปลี่ยว (ลก.๔,๕-๘;มธ.๔,๘-๑๐) การบรรยายในพระวรสารมุ่งที่จะทําให้เราเข้าใจว่า พระเยซูต้องดิ้นรนต่อสู้กับการประจญให้ยึดอํานาจ และให้รับตําแหน่งกษัตริย์เพื่อปกครองอาณาจักรทั้งหลายในโลก ซึ่งเป็นความคิดที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย มันคงจะเป็นโอกาสที่จะได้ปลดปล่อยคนจนและคนถูกกดขี่  หลังจากที่ยึดอํานาจแล้ว ก็สามารถใช้อํานาจเพื่อรับใช้ทุกคนได้ และมันอาจจะทําให้ปลุกความเชื่อของประชาชนได้ง่ายขึ้น แล้วโลกก็จะถูกเปลี่ยนเป็นโลกใหม่ได้

3. พระเยซูยืนยันแนวคิดเดิม

          พระเยซูไม่เคยถือหลักการที่ว่า ห้ามใช้กําลังไม่ว่าด้วยเหตุผลใดหรือในสถานการณ์ใดๆทั้งสิ้น พระเยซูเองก็เคยใช้กำลัง(คงจะไม่มีการนองเลือด) เมื่อครั้งกวาดล้างพวกพ่อค้าที่ลานพระวิหาร และเมื่อถึงคราวจําเป็น พระเยซูก็บอกให้สาวกหามีดดาบไว้ป้องกันตัว ในกรณีเช่นนี้ พระเยซูไม่ได้บอกให้หันแก้มให้อีกข้างหนึ่ง การหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้ และไม่ต่อสู้ความชั่วร้าย เป็นหลักการที่พระเยซูอ้าง เพื่อขัดแย้งกับหลักการที่ว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน หรือการแก้แค้น (มธ.๕,๓๘-๓๙) พระเยซูบอกว่า อย่าแก้แค้น ไม่ได้บอกว่า อย่าใช้กําลังเมื่อถึงคราวจําเป็น

          อย่างไรก็ตาม พระเยซูเห็นว่าในสถานการณ์ขณะนั้น การใช้กําลังเข้ายึดอํานาจจะมีผลเสียหาย และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ขัดกับความประสงค์ของพระเจ้า ในกรณีนี้ พระเยซูเห็นเหมือนกับพวกฟาริสีและซัดดูสีว่า การใช้กําลังเข้ายึดอํานาจปกครองจากกองทัพโรมัน ก็จะเป็นเหมือนการฆ่าตัวตาย การคิดใช้กําลังที่ด้อยกว่าแล้วหวังพลังมหัศจรรย์ของพระเจ้ามาช่วย ก็เป็นการ "ทดลอง" พระเจ้า (ดู ลก.๔,๑๒) ถ้ารบกับกองทัพโรมัน ก็มีแต่จะถูกฆ่าทั้งชาติ และนี่แหละคือสิ่งที่พระเยซูกลัวว่าจะเกิดขึ้น แต่ถ้าทุกคนเปลี่ยนความคิดและเปลี่ยนหัวใจเสียใหม่ ก็จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เช่นนี้ได้

          พระเยซูไม่ยอมใช้กําลังเข้ายึดอํานาจ ไม่ใช่เพราะกลัวภัยพิบัติจะเกิดแก่ประชาชนเท่านั้น มีเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่านั้นอีก คือการรับเป็นกษัตริย์ปกครองมนุษย์ ที่ไม่ได้หันความจงรักภักดีมาสู่อาณาจักรพระเจ้า และนําพวกคนเหล่านี้ไปทําสงครามรบราฆ่าฟันกัน ก็จะเป็นเหมือนหลงกลมาร (มธ.๔,๘-๑๐) มันเป็นเหมือนการรับอํานาจจากมาร ให้ปกครองอาณาจักรที่ไม่ใช่อาณาจักรพระเจ้า แต่เป็นอาณาจักรมนุษย์ที่แก้ปัญหากันด้วยความรุนแรง

          เราไม่อาจรู้ได้ว่า ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างอื่น พระเยซูจะทําอย่างไร แต่จากหลักการของพระเยซูที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เราพอจะคาดได้ว่า ถ้าไม่มีวิธีอื่นที่จะป้องกันคนจนและคนถูกกดขี่ และถ้าไม่มีแนวโน้มที่จะทําให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ความเมตตาสงสารของพระเยซู  คงจะผลักดันให้ใช้ความรุนแรงเท่าที่จําเป็นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เราเห็นแล้วว่าพระเยซูใช้กําลังขับไล่พวกพ่อค้า และสั่งให้เตรียมพร้อมโดยมีดาบป้องกันตัว แต่ความรุนแรงก็เป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงที่หนักกว่าเท่านั้น

          อย่างไรก็ตาม อาณาจักรพระเจ้า ซึ่งเป็นอาณาจักรแห่งการปลดปล่อย  อาณาจักรแห่งอิสรภาพของมวลมนุษย์ จะเกิดขึ้นจากความรุนแรงไม่ได้ ความเชื่อเท่านั้นที่จะทําให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึง

 

คำถาม
          1.ถ้าท่านเป็นพระเยซู ท่านจะรับตำแหน่งผู้นำทางการเมืองไหม ?
          2.การประจญคืออะไรสำหรับท่าน ?
          3.ท่านคิดอย่างไรกับ ”การใช้ความรุนแรงปราบความรุนแรง” ?

book