Skip to main content

วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

book

บทที่ 05 "อัสสมาจารย์นิยม" (Scholasticism)

โทมัส อไควนัส กำลังอภิปลายเทววิทยากับบรรดาพระสังฆราช และ อัสสมาจารย์

ศตวรรษที่ 12 เรียกได้ว่าเป็นยุคเรเนซองส์ของยุคกลาง (Medieval Renaissance) นักการศึกษาแห่งยุคได้แก่ อังแซมแห่งคันเตอร์เบอรี่ (Anselm of Canterbury, 1109) ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นปิตราจารย์คนสุดท้ายและเป็นอัสสมาจารย์คนแรกแห่งยุค บูรพจารย์ที่มีอิทธิพลแต่ความของท่านได้แก่ อกุสติน โบนาเวตูลา และโทมัสอไควนัส อัลแซมได้ต่อยอดความคิดของเหล่าคณาจารย์ โดยที่ท่านได้วางรากฐานที่สำคัญในยุคอัสสมาจารย์นิยม นั่นคือประโยคที่ว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ เพื่อข้าพเจ้าจะเข้าใจได้” (fides quaerens intellectum – I believe therefore I may understand)

    ในยุคนี้บรรดานักการศึกษาคริสตชนมีความเห็นค่อนข้างตรงกันว่า เราควรให้นักศึกษาและผู้ได้รับการอบรมได้เรียนวรรณกรรมที่เป็นคลาสสิก เพราะศิลปะศาสตร์ทั้งเจ็ดมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดและเป็นพื้นฐานการศึกษาของยุคปัจจุบัน แต่ความขัดแย้งทางแนวคิดการศึกษายังมีอยู่ในทุกยุคทุกสมัย ในยุคนี้เป็นความขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายหนึ่งคือ ธรรมประเพณีของคริสตชนที่มีรากฐานอยู่ที่การศึกษาพระคัมภีร์และงานเขียนของบรรดาปิตราจารย์ และอีกฝ่ายหนึ่งคือระบบความคิดตามปรัชญาของอริสโตเติลที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักการศึกษาสมัยนั้น

    อะบิลาร์ด (Abelard 1079-1142) ได้ประยุกต์วิธีคิดตามแนวอัสสัมจารย์ในการใช้เหตุผล สอดคล้องกับหลักคำสอนและความเชื่อของศาสนา วิธีนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสอนและการเรียนรู้ของท่าน วิธีการดั่งกล่าวเป็นที่นิยมในหมู่นักกฎหมายของพระศาสนจักร (canonists) อาทิเช่น เดเครตูมของเกรเช่น (Grantian’s Decretum, 1140) และงานเขียนของปีเตอร์ลอมบาร์ด (Peter Lombard’s Sentences, 1160) โดยคร่าวๆอธิบายวิธีการดังกล่าวได้ว่า เป็นการใช้หลักเหตุผลโดยเริ่มจาก การนำเสนอ (proposition) การโต้แย้ง (opposition) และบทสรุปของปัญหานั้น (solution) พื้นฐานดังกล่าวยังสามารถต่อยอดความคิดได้คือ การอธิบาย (explanation) บทสรุปหรือการประนีประนอมของข้อสรุป (reconciliation) ความกลมกลืนทางข้อสรุป (harmony) และบทสรุปแห่งความคิดทั้งหลายทั้งปวง หรือข้อข้อกฎหมายที่อาจจะขัดแย้งกัน (conclusion)  แต่ทั้งนี้ ข้อสรุปดังกล่าวต้องมีความสอดคล้องกับคุณค่าที่เราพบได้ในพระธรรมคัมภีร์ งานเขียนของบรรดาปิตราจารย์ คำประกาศ (decrees) ของพระสันตะปาปา ฯลฯ

    สำหรับนักการศึกษาชาวคริสต์แล้ว ความรู้ความเข้าใจในหลักการและข้อความเชื่ออาจเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ใช่ทุกอย่างที่จำเป็นต่อความรอดวิญญาณ ดังนั้นเบอร์นาร์ดแห่งแคร์ลวูซ์ (Bernard of Clairvaux, 1153) จึงไม่เห็นด้วยที่อัสสมาจารย์จะใช้สติปัญญาและตรรกวิทยาแต่เพียงอย่างเดียว ท่านจึงสอนว่าเพื่อที่เราจะเข้าถึงข้อความเชื่อและมีศรัทธาที่แท้จริง เราต้องดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัด (ascetic life) ตามธรรมประเพณีและกฎของนักบุญเบเนดิก การศึกษาก็คือการดำเนินชีวิตฝ่ายจิตนั้นเอง ท่านยังเชื่อว่าวิพากษ์วิธีเป็นเพียงกระบวนการทางความคิด แม้มันเป็นวิธีที่สอนให้มนุษย์รู้จักการคิดคำนึง (contemplation) แต่ไม่สามารถนำแสงสว่างเข้าสู่ระดับของจิตและวิญญาณ แม้การเรียนวิพากษ์วิธีเป็นสิ่งสำคัญต่อการศึกษาหาความรู้ แต่ความเชื่อศรัทธามาจากความเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

    ฮิวแห่งนักบุญวิกเตอร์ (Hugh of St. Victor, 1096-1141) พยายามที่จะเชื่อมวิถีทางแห่งการศึกษาเข้าด้วยกัน คือการใช้หลักวิพากษ์วิธีพร้อมกับการดำเนินชิวิตฝ่ายจิต ท่านจึงแนะนำให้บรรดาลูกศิษย์อ่านหนังสือต่างๆให้ครอบคลุม อาทิเช่น วิชาด้านศีลธรรม (จริยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการเมืองการปกครอง) วิชาด้านความรู้ทางเทคนิค (การทำสิ่งทอ ยุทธภัณฑ์ และการค้าขาย) ส่วนตำราทางเทววิทยา ได้แก่การศึกษาพระคัมภีร์ งานเขียนของบรรดาปิตาจารย์ และประวัติศาสตร์ของชาวคริสต์ โดยอย่างหลังนี้ ท่านได้หวังว่าข้อเขียนดังกล่าวจะช่วยบำรุงชีวิตฝ่ายจิตของผู้อ่านทุกคน

    ยอห์นแห่งซาลิสเบอรี่ (John of Salisbury, 1181) กลับมีแนวคิดสุดโต่งด้านการศึกษาของคริสตชน ท่านกล่าวว่าพระศาสนจักรคือจิตและวิญญาณของรัฐ (soul of state) เป็นทางฝ่ายศาสนาที่จะจัดการศึกษาให้แก่บรรดาผู้นำของสังคม เขาเหล่านั้นคือบรรดาพระสงฆ์ ในข้อเขียนของท่าน เมตาโลจิคอน (Metalogicon, 1162) ได้ให้คุณสมบัติที่จำเป็นของบรรดาผู้นำในสังคม เขาเหล่านั้นต้องได้รับการศึกษาที่เหมาะสมเพื่อที่จะมีคุณธรรมในทุกอย่างก้าวของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในด้านศีลธรรมและจริยศาสตร์ สังคมและการเมือง แม้ความคิดของท่านที่จะบูรณการการศึกษาแนวคริสต์ออกจะเป็นทางปรัชญาไปบ้าง แต่ท่านถือได้ว่าเป็นคนแรกๆที่จะนำหลักมนุษย์ศาสตร์ (humanistic approach) มาใช้ และเป็นการเปิดศักราชใหม่ของแนวคิดใหม่ในศตวรรษที่กำลังจะมาถึง

    ในศตวรรษนี้การศึกษาแนวคริสต์นอกจากจะเป็นเรื่องการอบรมในรั้วรอบเขตพรตและการเตรียมผู้นำของสังคม ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่ถือว่าเป็นการปฏิรูปแนวคิดด้านการศึกษาของชาวคริสต์ ประการแรกคือ การก่อเกิดคณะนักบวชสองคณะ คือ คณะฟรังซิสกันและโดมินิกัน พวกเขาเป็นธรรมทูต (missionary) โดยการเทศน์และสั่งสอนความเชื่อแก่คนทั่วไป อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลทำคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อพระศาสนจักรและงานด้านการศึกษาโดยแท้

    ประการที่สองคือผลกระทบจากสังคายนาแห่งลาเตอรัน (Lateran Council, 1215) ที่เรียกร้องให้ทุกอาสนวิหารจัดตั้งโรงเรียนเป็นของตนเอง โดยมีคณาจารย์ที่สามารถสอนด้านไวยกรณ์ ปรัชญา กฎหมายพระศาสนจักร เทวศาสตร์ ประจำอยู่ในทุกๆสังฆมณฑล และทุกๆเขตอภิบาลวัด (parish church) ควรที่จะมีโรงเรียนด้วยเช่นกัน การศึกษาสำหรับเด็กๆต้องไม่มีค่าใช้จ่าย และต้องได้รับการสนับสนุนโดยอาสนวิหารนั้นเอง

    และปัจจัยอย่างสุดท้าย คือการตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่กรุงปารีส โบโลญ่า และซาเลอโน (Paris, Bologna, and Salerno) โดยสันตะสำนัก นับเป็นเครื่องหมายที่สำคัญของการพัฒนาด้านการศึกษาของพระศาสนจักรในยุคนั้น ดังเห็นได้จากที่มหานครปารีสเป็นแหล่งการศึกษาสำหรับบรรดาครูอาจารย์ และมีปริญญาบัตรในขั้นต่างๆ คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท และขั้นใบประกาศวิชาชีพ (licentiatus)  ต่อมาการจัดการศึกษาเป็นระบบแบบแผนมากยิ่งขึ้น ทั่วไป เบื้องต้นเหล่านักศึกษาต้องเรียนพระคัมภีร์และข้อเขียนของบรรดาปิตาจารย์ก่อน ต่อมาพวกเขาจะได้เรียนตำราของปีเตอร์ลอมบาร์ด (Sentences of Peter Lombard) ที่สอนเรื่องพระตรีเอกภาพ เทวศาสตร์การสร้าง (creation) เทวศาสตร์เรื่องความรอดพ้น (salvation) และศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ (Sacraments) ในห้องเรียนจะมีการสอนโดยการบรรยายควบคู่ไปกับการซักถามและถกเถียงกัน อย่างไรก็ตาม วิชาเทวศาสตร์ดังกล่าวเพิ่งจะเป็นข้อกำหนดสำหรับการสอนผู้เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ หลังสังคายนาที่เมืองเตรนต์ (Council of Trent, 1563) หรือเมื่ออีกสองสามร้อยปีต่อมา

    สำหรับนักการศึกษาชาวคริสต์ เป็นปกติที่ศูนย์กลางของความรู้และปรีชาญาณอยู่ที่องค์พระคริสต์เจ้า สำหรับโบนาเวตูลา (Bonaventure, 1217-1272) ท่านเป็นนักบวชคณะออกุสติเนียนและเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเมืองปารีส ท่านประกาศชัดว่า ความเชื่อเท่านั้นที่จะทำให้สติปัญญาของมนุษย์แจ่มแจ้งได้ เพราะในขณะนั้นแนวคิดทางปรัชญาของอริสโตเติลเป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษาและนักวิชาการอย่างมาก ท่านเตือนว่า “เป็นองค์พระคริสต์ไม่ใช่อริสโตเติล ที่เป็นศูนย์กลางแห่งอภิปรัชญา (metaphysical center) ของความรู้ ความเข้าใจ และปรีชาฉลาดทั้งหลายทั้งปวง” แม้ท่านจะไม่ได้อภิปรายโดยหลักปรัชญาต่อไปว่า สิ่งที่ท่านกล่าวหมายถึงอะไรกันแน่ แต่ท่านได้ประยุกต์ปรัชญาเข้าสู่หลักการของเทววิทยา (theology) ท่านอธิบายว่า เทววิทยาไม่ใช่เป็นศาสตร์ธรรมดา แต่เป็นศาสตร์ขั้นสูงสุด ที่บูรณการความรู้ทั้งหลายให้เข้าสู่วิถีฝ่ายจิตเพื่อมุ่งสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า

    ในยุคสมัยของท่านยังมีนักการศึกษา นักเทวศาสตร์ และอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่เราต้องกล่าวถึง นั่นคือ โทมัส อไควนัส (Thomas Aquinas, 1224-1274) เพราะคำสอนและข้อเขียนของท่านทรงอิทธิพลมากในหมู่อัสสมาจารย์ ท่านจะเริ่มรำพึงถึงประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ก่อนที่จะเข้าสู่ความเชื่อทางศาสนา เราสามารถพบหลักการนี้ได้ในหนังสือ ซัมมาเทโอโลจิกา (Summa Theolgica) ที่ได้พยายามอธิบายคำสอนและข้อความเชื่อให้อยู่ด้วยกัน ภายหลังในปี 1879 พระสันตะปาปาเลโอที่ 13 (Pope Leo XIII) ได้รับรองหนังสือนี้เพราะสอดคล้องกับคำสอนอย่างเป็นทางการของพระศาสนจักร

    โทมัส อไคนัส ได้พัฒนาต่อยอดเทววิทยาไปมากกว่าอาจารย์ของท่าน คือ ออริเจนและออกุสติน (Origen and Augustine) ที่สอนว่าพระเจ้าเป็นเป็นผู้เดียวที่เผยแสดงและเป็นอาจารย์ (revealer and sole teacher) เพราะอไควนัสได้ประยุกต์หลักการเป็นเหตุเป็นผล (causality) ของอริสโตเติลมาใช้อธิบายถึงหลักการของการศึกษา ท่านอธิบายว่า สาเหตุคือคณาจารย์ และหลังจากที่คณาจารย์ได้สอนบรรดานักเรียนเรียบร้อยแล้ว กิจกรรมของนักเรียนคือ “เหตุที่มีประสิทธิภาพของการเรียนรู้” (effective cause of learning)

    ส่งท้าย...

    เพราะความคิดที่ผสมผสานเรื่องความเชื่อและเหตุผล เทววิทยาและปรัชญา มหาวิทยาลัยและเขตพรต งานของโทมัส อไควนัสจึงถือเป็นจุดสูงสุดแห่งยุคอัสสมจารย์นิยม เพราะนักการศึกษาชาวคริสต์ย่อมมุ่งเน้นถึงวัตถุประสงค์ทางศาสนา อไควนัสเองก็เห็นว่าเทววิทยาเป็น “ราชินีแห่งศาสตร์ทั้งหลายทั้งปวง” (Queen of the sciences) โดยเหตุผลเช่นนี้เอง นักการศึกษาหรือนักวิชาการรุ่นใหม่มักจะกล่าวหาการศึกษาของยุคนี้ว่าเป็นยุคมืด ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเน้นแต่เรื่องของศาสนาและพระเจ้าในทุกๆมิติของชีวิตประจำวัน ในทางตรงข้าม ระเบียบวิธีด้านการสอนอบรมและข้อเขียนและคำสอนของบรรดาอัสสมาจารย์เป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการศึกษาในยุคปัจจุบัน ที่มีการถ่ายทอดวิชาความรู้ ไม่ใช่แค่ท่องจำ แต่ต้องใช้ความคิด วิจารณญาณ และเหตุผลอยู่เสมอๆ... ดังเช่นในเรื่องของความเชื่อและศรัทธาต่อคำสอนของศาสนา เพราะแม้ความเชื่อจะไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด แต่สามารถอธิบายได้ระดับหนึ่ง ในระดับอภิปรัชญาและตรรกศาสตร์ตัวอย่างเช่นเรื่องการอธิบายถึงความมีอยู่ของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้สำหรับคริสตชน ความเชื่อที่แท้จริงจะไม่งมงาย และต้องได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการของพระศาสนจักรอยู่เสมอ เพราะตลอดสองพันปีที่ผ่านมานี้ เทววิทยาและปรัชญาได้รับการพัฒนาและต่อยอดอยู่เสมอมา ไม่ใช่แค่การศึกษาของคริสตชนแต่ต่อระบบการศึกษาตามแนวตะวันตกและสมัยใหม่ เราจึงควรเห็นคุณค่าในสิ่งที่เหล่าบูรพจารย์และอัสสมาจารย์ได้กระทำในยุคสมัยของท่าน

 

อ่านและเขียนจาก

John L. Elias, A History of Christian Education: Protestant, Catholic, and Orthodox Perspectives, 1 ed. (United States: Krieger Publishing Company, 2002)

Peter Gordon and Denis Lawton, A History of Western Educational Ideas (Portland, OR: Routledge Falmer, 2002)

Henri Leclercq, "Fourth Lateran Council (1215)," Appleton Company, accessed Feburary 10, 2016, http://www.newadvent.org/cathen/09018a.htm.

บทที่ 05 "อัสสมาจารย์นิยม" (Scholasticism)

◀️ บทที่ 04 "โรงเรียนของวัดหลวง (อาสนวิหาร) และธรรมประเพณีของอาราม"

บทที่ 06 "ยุครุ่งเรืองแห่งมานุษยนิยม" (The Christian Humanistic Renaissance) ▶️

Written by 
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL


Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com

*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร

Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp


book


วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

บทนำ

“เป็นที่ประจักษ์ในสังคมไทยว่าโรงเรียนคาทอลิกตัวแทนภาพลักษณ์ของงานอภิบาลและการแพร่ธรรมในประเทศไทย ผู้เขียนมีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอมุมมองของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก (Catholic education and formation) ที่ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนคาทอลิก การศึกษาคาทอลิกมีจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจจากชีวิตและงานขององค์พระเยซูเจ้าและสืบต่อทางบรรดาอัครสาวกและปิตาจารย์ พันธกิจนี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกระแสธารแห่งกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นยุคแห่งความรุ่งเรือง หรือความท้าทายและความยากลำบาก จวบจนปัจจุบันพระศาสนจักรยังคงเห็นคุณค่าของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก ทั้งนี้เพื่อจะเป็นเครื่องมือที่นำทุกผู้คนสู่หนทางแห่งความรอดพ้นแห่งวิญญาณ”